วันอังคาร, ตุลาคม 31, 2549

ยางหล่อรถบรรทุก วงการที่ตายแล้ว?

ขอเปิดหมวดหมู่เกี่ยวกับการตลาดแบบลูกทุ่งนะครับ
เป็นเรื่องของการตลาด และบริหารธุรกิจที่ผมเีรียนรู้จากประสบการณ์ตรง
จึงจะดูแปลกๆ ถูกบ้างผิดบ้าง ก็ขออภัยมาล่วงหน้าครับ

เริ่มด้วยเรื่องของการทำกิจการยางหล่อรถบรรทุกครับ

เวลาที่มีคนมาถามผมว่า ทำยางหล่อเป็นอย่างไรบ้าง
ผมก็ไม่เคยลังเลที่จะตอบว่า

"ยางอะไรล่ะ ถ้าเป็นยางตันรถ fork lift ก็ยังพอไปได้
แต่ถ้าเป็นยางลมรถบรรทุก ตลาดมันตายไปแล้ว..."

ที่ว่าตายไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่า หมดไปนะครับ
เพียงแต่ว่า เป็นตลาดที่ค่อนข้างจะอิ่มตัวแล้ว ไม่น่าลงทุนแล้ว
เพราะจำนวนผู้ประกอบการ มากกว่าความต้องการของตลาด

ยกตัวอย่างคร่าวๆ เช่นที่จังหวัดแถวชลบุรี ระยอง ฯลฯ
ด้านนั้นสามารถปลูกยางได้เอง แถมยังมีนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อยู่ด้วย
ทำให้มีการใช้รถบรรทุกจำนวนมาก และดึงดูดเหล่าผู้ประกอบการหล่อยาง
ให้เข้าไปเปิดโรงงานทั้งเล็กและใหญ่ กระจายไปทั่ว

นับดูคร่าวๆ ได้กว่า 60 โรงงาน!

นั่นเฉพาะจังหวัดเดียวนะครับ ตัวเลขขนาดนี้ เหมือนจะเป็นไปไม่ได้
แต่เพราะการทำอัดหน้ายางรถบรรทุก สามารถทำได้ง่าย และลงทุนน้อยจริงๆ
แค่มีเตาอบยางตัวนึง มีเครื่องขูดเล็กๆตัวนึง กับที่ประมาณห้องแถวเล็กๆ ก็ทำได้แล้ว

เพราะหน้ายาง มีโรงงานใหญ่ๆ ทำขายสำเร็จรูป
แค่เอายางมาขูดหน้าเดิมออก แล้วก็ทากาวติดหน้าใหม่เข้าไป
อบเสียให้ยางสุก แค่นี้ก็เอายางออกมาขายได้แล้ว

นี่แหละครับ ความง่ายของมัน ทำให้มีผู้กระโดดเข้ามาแบ่งชิ้นเค้กกันจำนวนมากมาย
และทำให้เกิดภาวะล้นตลาดของผู้ขาย

จะเห็นได้ว่า มีคนวิ่งรถจากทางตะวันออก มาหาโครงยางไปหล่อ
ตั้งแต่เส้นบางนา - ตราด ไปจนถึง ปริมณฑล โน่นเลยครับ
เรียกว่าต้องเดินทางกันไกลขึ้น วิ่งทับเขตหากินกันมั่วไปหมด
เพราะแถวนั้นไม่เหลือยางให้ทำกันแล้ว แย่งกันไปหมด

ดังนั้น ถ้าคิดจะเริ่มทำกิจการยางหล่อตอนนี้ ขอบอกว่าทำอย่างอื่นดีกว่าครับ
ทำสิ่งที่เห็นว่ามีโอกาสมากกว่านี้ และมีตลาดที่ดีกว่านี้

ส่วนคนที่ทำมานานแล้วอย่างผม และคนอื่นๆ
ก็คงต้องดิ้นรนประคับประคองตัว ไปตามภาวะเศรษฐกิจ
ที่ยังเอาแน่เอานอนอะไรไม่ได้อยู่ครับ

แล้วจะมาเล่าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคให้ฟังกันคราวหน้าครับ

วันศุกร์, ตุลาคม 27, 2549

ยางตันล่อนใน

จากที่เคยบอกว่ายางลมรถบรรทุก มักจะมีปัญหาเรื่องการล่อน
แต่แม้แต่ยางตันรถ Fork Lift ก็หนีปัญหาการล่อนไปไม่พ้นครับ

เรากำลังพูดถึงประเด็นที่ผ้าใบของโครงยางล่อนเองนะครับ
ไม่เกี่ยวกับเรื่องที่หล่อไม่ดี แล้วหน้ายางหลุดล่อนออกจากโครงยาง

ดังภาพที่ผมจะนำเสนอต่อไปนี้...



นี่คือยางตันที่ผ่านการขูดเอาหน้ายางออกแล้ว
เพื่อรอนำไปสู่กระบวนการติดเนื้อยางเข้าไปใหม่

แต่หลังจากการขูด เราพบการล่อนของผ้าใบครับ
ดังที่เห็นในภาพ จะมีการแยกชั้นของเนื้อโครงยาง

ซึ่งถ้ารอยล่อนนั้น ไม่กว้าง คือแยกชั้นแล้วแต่ไม่ขยายไปเรื่อยๆ
ก็ยังพอจะตัดส่วนที่เสียออก แล้วแต่งแผลให้เรียบร้อยใหม่ได้
แต่จากภาพ จะเห็นว่า รอยล่อนนั้นขยายต่อไปอีกเรื่อยๆ
และไม่คุ้มที่จะเสี่ยงนำไปหล่อดอก
เพราะอาจจะทำให้เนื้อดอกยางหลุดออกเพราะรอยล่อนปริแยกได้

ดังนั้น เวลาที่ช่างตรวจสภาพยางภายนอกแล้วตอบว่าสามารถหล่อได้
ก็ยังไม่ใช่คำตัดสินชี้ขาด 100% เสมอไป
เพราะบางครั้ง ยางบางเส้น ก็มีโอกาสพบรอยล่อนที่ซ่อนอยู่ภายในโครง
ที่จะตรวจไม่พบจนกว่าจะขูดเนื้อยางด้านนอกออกไปก่อน

ถ้าเจอสภาพแบบนี้ ต้องทำใจนะครับ
เพราะโครงยางเส้นนั้นหมดสภาพการใช้งานแล้วจริงๆ

วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 26, 2549

ยางล่อน...???

กับคำถามที่ว่า ยางรถบรรทุกหล่อ มีปัญหาหรือไม่
ก็ต้องขอตอบตามตรงว่า มีครับ

และปัญหา ที่พบบ่อยในยางลม (ก็พวกยางรถบรรทุกนั่นล่ะครับ เรียกง่ายๆว่ายางลมแล้วกัน)
ก็คือ ยางล่อน...

ล่อน เป็นอาการเดียวกับเงาะโรงเรียนครับ
คือเนื้อหลุดออกจากเม็ดอย่างง่ายดาย...

เช่นตัวอย่างนี้...



หน้ายางหลุดออกจากโครงยางมาเป็นแผ่นสวยงาม

อันนี้ก็เป็นยางของโรงงานผมเองนั่นล่ะครับ
แล้วที่ผมมาบอกว่ายางผมมีล่อนเนี่ย ไม่กลัวหรอกนะครับ

เพราะผมกล้ารับประกันได้เลยว่า ยางหล่อทุกโรงงาน มีล่อนหมด

ไม่ว่าเขาจะอ้างว่าได้รับมาตรฐาน ISO กี่ข้อๆ
มีเทคโนโลยีล้ำหน้า หล่อร้อน หล่อเย็น อัดหน้า ยางเทียม ฯลฯ
อย่าไปเชื่อครับว่ามันจะไม่ล่อน

เพราะยางลมรถบรรทุก เป็นสิ่งที่อ่อนไหวที่สุดแล้วในการทำยางหล่อ

มีปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการหล่อยาง
ไม่ว่าจะเป็นอายุของยาง อายุของผ้าใบยาง สภาพของเนื้อยางที่ผลิตออกมา
รอยร้าวด้านนอก แผลทะลุต่างๆ ล้วนมีผลต่อการล่อนของยางทั้งสิ้น

เพราะขนาดยางใหม่ที่ออกจากโรงงานโดยตรง
ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามันจะเหมือนกันทุกเส้น 100%
มันจะมีบางเส้นที่มีข้อผิดพลาดเล็กๆน้อยๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้งาน

ยางบางเส้น ผ้าใบที่ขึ้นโครงบางชั้นเกิดเสื่อมสภาพ
ตอนหล่อยังไม่เป็น แต่พอหล่อแล้ว เอาไปใช้งาน ผ้าใบเกิดแยกชั้นกันขึ้นมาดื้อๆ
ยางก็จะล่อนทันที อันนี้เรียกว่าหมดอายุการใช้งาน

บางทีก็มีรอยร้าวเล็กๆ พอใช้ไปเรื่อยๆ ก็ร้าวมากขึ้นๆ
จนในที่สุด ก็พาให้แก้มยางปริ แล้วปริมาถึงหน้ายางก็มี...

แต่ยางที่ล่อนจากการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพก็มีครับ
ลองดูได้ว่าถ้าหน้ายางที่ล่อนออกมา ภายในมีทรายอยู่จำนวนมาก
เป็นไปได้ว่า ผู้ผลิตอาจจะไม่ระวังรักษาความสะอาดในการผลิตอย่างเพียงพอ
หรือในเนื้อยางที่ใช้ มียางเกรดต่ำผสมอยู่เยอะเพื่อลดต้นทุน ก็ได้...

ดังนั้น เรื่องยางล่อน จึงเป็นเรื่องธรรมชาติครับ
ไม่จำเป็นว่าจะต้องเจอกันทุกคน แต่ถ้าเจอก็อย่าแปลกใจครับ
นานๆ มันถึงจะเกิดขึ้น เพราะส่วนใหญ่ ช่างเขาก็พยายามทำให้ดีที่สุดอยู่แล้วครับ

ถ้าเกิดปัญหาขึ้น ผู้ผลิตยางหล่อส่วนมากจ ะมีรับประกันการใช้งาน
ถ้าใช้แล้วล่อนเพราะการผลิตไม่ดี ไม่ได้เป็นเพราะผ้าใบยางแยกชั้น หรือยางระเบิด
ส่วนมากผู้ผลิตจะรับเคลม โดยอาจจะรับซ่อมให้ครับ

เพียงแต่ว่า พวกตีหัวเข้าบ้าน หล่อถูกๆ แล้วไม่รับประกันก็มี
ถ้าเจอแบบนั้น ก็ระวังกันหน่อยนะครับ...

ของถูกกว่า ใช่ว่าจะดีกว่าเสมอไป...

ถ้าถามว่า ยางแบบไหนหล่อแล้วล่อนยากที่สุด
ก็ขอตอบว่า ยางไม่เคยหล่อ ใช้แค่พอหมดดอก ไม่มีแผลทะลุเลย นั่นล่ะครับ...

วันพุธ, ตุลาคม 25, 2549

ยางดิบก็มีหลายประเภท

วันนี้ขอนำท่านไปรู้จักกับยางดิบประเภทต่างๆแบบสังเขป

ยางพาราดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมเกี่ยวกับยางทั่วไป มีหลายประเภทมากๆครัีบ
แต่ในไทยจะมีหลักๆ อยู่สองสามประเภท

ถ้าเป็นแบบที่นิยมใช้ทั่วไปคือสกิมบล๊อก (Skim Block)


สกิมบล๊อก (skim block) หมายถึงยางก้อนจากหางน้ำยางซึงหางน้ำยาง (skim latex)เป็นส่วนแยกออกจากส่วนที่เป็นครีม (Concentrated latex) ในกระบวนการปั่นแยก (centrifigation) รวบรวมส่วนที่เป็นสกิม (4 - 6%DRC) มาจับตัว รีด อบ อัดเป็นแท่ง จะได้สกิมบล๊อก หรือสกิมเครพ ยางสกิมมีข้อจำกัดในการใช้ด้านอุตสาหกรรทม เพราะสมบัติด้านการกระดอน (Rebound) ต่ำ
เนื้อของมันก็จะออกเป็นร่วนๆ แบบนี้แหละครับ



เพราะเกิดจากการนำเศษมาอัดรวมกันเป็นแท่งใหม่
แต่ก็นิยมใช้กันในอุตสาหกรรมทั่วไปครับ เช่นพื้นรองเท้าบางประเภท, ยางรองพื้น, ยางรองขาโต๊ะ ฯลฯ
เพราะราคาจะค่อนข้างถูก และคุณภาพก็อยู่ในระดับยอมรับได้ สำหรับงานที่ไม่ต้องการคุณสมบัติทนทานมากนัก

แต่ถ้าเป็นงานที่ต้องการเนื้องานที่ดีกว่า เช่นถุงมือแพทย์, สิ่งที่ใช้สัมผัสกับอาหาร, ยางรถยนต์ ฯลฯ
เขาก็จะใช้ยางอีกเกรดหนึ่ง คือยางแผ่น ซึ่งอาจจะมาในรูปยางแผ่นดิบสีขาวๆ หรืออาจจะผ่านการรมควันมาแล้วก็ได้ เพื่อป้องกันเชื้อรา และทำให้เก็บรักษาได้นานขึ้น

ดังตัวอย่างนี้คือ ยางแผ่นรมควันชั้น 3



ขออภัยนะครับ ที่มีรอยดำๆ เพราะหมาที่บ้านชอบปีนขึ้นไปเล่น...
แต่ไม่มีปัญหากับการใช้งานหรอกครับ เพราะไม่ได้เอาไปทำถุงมือแพทย์อยู่แล้ว...

ยางแผ่นรมควัน ก็จะมีเนื้อที่ดีกว่าสกิมบล๊อกครับ



เนื้อจะใสเป็นแผ่นเดียวกันตลอด เวลาทำชิ้นงานเนื้องานจะมีความละเอียด และมีคุณสมบัติของยางที่ดีกว่าครับ ทั้งความทนทาน และการยืดหยุ่น

แต่ปกติทางเราจะใช้สกิมบล๊อกผสมเข้าไปประมาณ 20% ครับ
เพราะเคยใช้ยางแผ่นล้วนแล้วเนื้อยางออกมาดีเกินไป สำหรับทำยางรถยนต์ครับ
จะค่อนข้างแข็งและเหนียวเกินไป เวลาเอาไปขึ้นรูป มันไม่ค่อยจะยอมเป็นรูปเป็นร่าง
แต่ก็พยายามใส่ให้พอดีที่สุด เพราะถ้าใส่มากเกินไป ยางก็จะเสียคุณสมบัติยืดหยุ่นไปเสียหมดครับ และเวลาเอาไปใช้งาน มันก็จะแตกหลุดออกมาเป็นก้อนๆเหมือนยางลบเสียก่อน

ซึ่งจริงๆแล้วมียางอีกหลายเกรดมากครับ ยางแผ่นดิบก็มีชั้น 1 - 5
สกิมบล๊อกก็มีเกรด A ไปถึง D ด้วยซ้ำ

ยางระดับเลวร้ายก็มีเช่น ยางกะลา คือยางที่มีเศษทรายปนอยู่มากๆ ก็เอาไว้ทำล้อรถเข็นกันครับ

รวมถึงยางที่เรียกว่า ยางรีเคลม ที่เอายางผงที่ขูดจากหน้ายางกลับไปผสมแล้วทำให้เป็นก้อนอีกครั้ง
ซึ่งเนื้อยางเลวร้ายมากครับ ทำล้อรถเข็น กับบล๊อกปูพื้นได้อย่างเดียว เพราะเนื้อจะร่อนเป็นผงๆ เลยครับ

แต่ในวงการก็มีคนเอายางกะลากับยางรีเคลม มาผสมทำยางหล่อขายเราๆท่านๆอยู่ด้วย
อย่างไรก่อนซื้อก็ลองดูเนื้อยางกันให้ดีๆนะครับ ก่อนจะโดนหลอกซื้อยางที่ใช้ไม่ทนคุ้มค่าอย่างที่หวัง

วันอังคาร, ตุลาคม 24, 2549

การดูผ้าใบยางรถบรรทุก

ในบ้านเราตอนนี้ ยางรถบรรทุกที่มีจำหน่ายอยู่ก็มีสองแบบใหญ่ๆ
คือแบบผ้าใบ กับแบบใยเหล็ก

วิธีดูง่ายๆ ก็ให้ดูที่ด้านข้างยางครับ บริเวณที่บอกขนาดของยางนั่นเอง
จะมีระบุชนิดของวัสดุขึ้นโครงยางเอาไว้
ถ้าเป็นแบบเส้นลวด ก็จะใช้คำว่า RADIAL ที่เราเรียกกันติดปากว่า ยางเรเดียลนั่นล่ะครับ
แต่ถ้าเป็นผ้าใบ จะใช้คำว่า NYLON และจะระบุจำนวนชั้นของผ้าใบเอาไว้ด้วย

ขอพูดถึงยางชนิดผ้าใบนะครับ



ดังตังอย่างในภาพถ่ายจากข้างยาง
บรรทัดแรก คือขนาดของยาง 9.00 ขอบกระทะล้อ 20 นิ้ว
บรรทัดที่สอง บอกว่าเป็นแบบผ้าใบ 14 ชั้น
และบรรทัดสุดท้าย บอกว่าใช้วัสดุขึ้นโครงเป็นผ้าใบนั่นเองครับ

ซึ่งจำนวนชั้นของผ้าใบก็จะแปรผันกับความแข็งและทนของยางครับ
ซึ่งผ้าใบจำนวนชั้นมากกว่า ก็จะมีความทนทานกว่า รับน้ำหนักได้มากกว่า
แตกยากกว่า รวมถึงแพงกว่าด้วยครับ

ซึ่งการจะนำยางชนิดผ้าใบมาหล่อนั้น ขอให้ใช้อย่าถึงชั้นผ้าใบนะครับ
ดังตัวอย่างนี้...




ใช้ยางเสียจนเกินคุ้ม ผ้าใบทะลุเข้าไปราว 3-5 ชั้นแล้ว
คิดดูสิครับ ผ้าใบยางมีอยู่ 12-16 ชั้น หายไปแล้วเกือบครึ่ง
กับแรงดันลมยางที่เติมกันบางทีร่วม 80-100 ปอนด์
โอกาสเกิดยางระเบิดสูงจนน่ากลัวเลยล่ะครับ

ดังนั้น ควรจะตรวจตรายางรถให้ดีนะครับ อย่าใช้จนเห็นผ้าใบแบบนี้
นอกจากจะทำให้เราปลอดภัยแล้ว ยางที่เนื้อหน้ายางยังดีอยู่
ไม่มีแผลทะลุใหญ่กว่าแผลตะปู และไม่มีแผลลึกที่ด้านข้าง(แก้ม)ยาง
ก็สามารถเอามาหล่อใหม่ใช้ได้อีก อย่างน้อย 2 รอบด้วยครับ

เรียกว่าทั้งปลอดภัย ทั้งประหยัดเลยล่ะครับ


วันจันทร์, ตุลาคม 23, 2549

วิธีดูแนวโน้มราคายาง

วันนี้จะขอพูดถึงวิธีดูแนวโน้มราคายางครับ

เพราะยางพาราดิบ เป็นตัวสะท้อนต้นทุนหลักของงานหล่อยาง
ทำให้การปรับราคาขึ้นหรือลงของสินค้า จึงต้องอิงตามราคายางพาราดิบ

วิธีติดตามราคายางง่ายที่สุด คือดูจากเว็บขององค์การสวนยางครับ

ราคายางวันนี้

ในหน้านี้จะมีตารางราคายางประจำวันให้ดูกันทุกวัน
ยกเว้นวันหยุดที่เขาไม่ซื้อขายกัน เช่นเสาร์อาทิตย์ หรือนักขัตฤกษ์

และการดูก็อย่าไปดูราคาที่หน้าสวนนะครับ
ให้ดูที่ช่องขวาสุด คือช่อง FOB. (Bangkok)
ซึ่งเป็นราคาที่ผู้ใช้ที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลต้องจ่าย

เวลาดูโทรทัศน์แล้วเขาบอกราคายาง ส่วนใหญ่เขาจะบอกราคาหน้าสวนครับ
แล้่วลูกค้าบางคนก็จะมาอ้างอิงราคานั้น ซึ่งมันถูกเกินไปครับ

ราคาต้นทุนที่แถวกรุงเทพฯ จะสูงกว่าหน้าสวนราวๆ 10 บาทเสมอครับ

เวลาราคายางขึ้นลง แม้เพียงแค่ไม่กี่สตางค์ก็มีผลต่อต้นทุนมากครับ
เพราะยาง 1 เส้น ไม่ได้ใช้ยางแค่ 2-3 กิโลกรัม แต่อาจใช้มากถึง 15 - 40 กิโลกรัมก็มี

ลองคุณดูสิครับว่าถ้าราคาเปลี่ยนแค่กิโลกรัมละ 1 บาท
ต้นทุนเราก็เพิ่มขึ้นแล้ว 15 - 40 บาท ต่อเส้น โดยที่อาจจะต้องขายที่ราคาเท่าเดิม
เพราะการปรับราคา เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำบ่อยนัก จะทำให้ลูกค้าสับสนได้
บางครั้งจึงต้องยอมตรึงราคา กินกำไรน้อยๆ ไปร่วมครึ่งปีก็มี...

แต่ก็อย่าลืมนะครับ ว่ามีแต่ยางพารา มันก็ไม่ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ได้
ต้องรวมต้นทุนอย่างอื่นเช่น เคมีภัณฑ์, ค่าไฟฟ้า, ค่าแรง, ค่าอุปกรณ์ ฯลฯ เข้าไปด้วย

สมัยนี้ ทำยางหล่อขาย กำไรก็ไม่ได้มากมายเหมือนสมัยก่อนแล้วครับ

วันอาทิตย์, ตุลาคม 22, 2549

เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย...

ปัญหาที่ผมพบบ่อยๆ กับผู้ใช้ยางตันที่เป็น Home User
หรือเรียกว่า มีรถโฟล์คลิฟต์ใช้ซักคันสองคัน ก็คือ

จะไม่อยากเปลี่ยนยาง เพราะว่ามันแพง...

และก็จะใช้จนกว่า เรียกว่า ใช้งานไม่ได้แล้วนั่นแหละครับ
ถึงจะยอมเปลี่ยนยางกันซักที

อย่างเช่นรายนี้...



ใช้ยางจนเรียกว่า หมดสภาพจริงๆ ถึงจะยอมถอดเอามาเปลี่ยน
ดูสภาพขอบล้อที่หลุดออกจากโครงยางสิครับ...



เรียกว่า ถ้ามันยังวิ่งได้ ก็คงจะใช้ต่อไปเป็นแน่
ลูกค้าแนวนี้ ถ้ายางโครงไม่แตก ก็ใช้จนใต้ท้องรถครูดไปกับพื้นเลยล่ะครับ

ในกรณีนี้ ยางเส้นนี้จะเสียไปเลย ไม่สามารถนำมาหล่อดอกใหม่ได้อีก
ซึ่งนับเป็นเรื่องน่าเสียดายมากๆ เลยครับ

เพราะในการใช้งานปกติ ยางตัน สามารถนำกลับมาหล่อดอกใหม่ได้อีก
อย่างน้อย 2 รอบขึ้นไป โดยที่การใช้งานยังดีอยู่

เพียงแค่ขอให้ใช้จนพอหมดดอกยาง แล้วก็ให้ถอดเอามาหล่อเสีย
คุณจะประหยัดค่าซื้อโครงยาง หรือแม้แต่เปลี่ยนยางใหม่ไปได้หลายเท่าครับ

เพราะค่าหล่อดอกยางนั้น ถูกมากกว่า 50% ของราคายางใหม่
แล้วยิ่งถ้าหล่อ 2 รอบได้ คิดดูสิครับ ว่าจะประหยัดเงินไปได้ขนาดไหน...

แล้วอย่างนี้จะไม่เรียกว่า เสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย ได้อย่างไรล่ะครับ...

วันเสาร์, ตุลาคม 21, 2549

History...

ประวัติความเป็นมาของเรา...

หจก. เอส พี หล่อดอกยาง
สมัยก่อน ตั้งอยู่บนถนนสายลวด ตำบลปากน้ำ จังหวัดสมุทปราการ
ซึ่งก็เป็นที่มาของชื่อโรงาน ที่คุณพ่อผมเป็นคนคิดขึ้น
นั่นคือ SP ซึ่งย่อมาจาก สมุทรปราการ นั่นเอง...

แต่ก็มีเหตุทำให้ต้องย้่ายที่ตั้งมายังที่ปัจจุบัน
ในราวปี 2519-2520 เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น
ฟังจากคนงานเก่าแก่ เขาเล่าให้ฟังว่า เป็นเพราะคนงานสูบบุหรี่
แล้วประกายไฟมันไปติดเอาไอระเหยของน้ำมันเบนซินเข้า
พอไฟลุกขึ้น ก็พยายามดับ แต่ว่าไปใช้ผ้าเปียกน้ำมันปัดเสียอีก
ไฟเลยยิ่งลุกไปกันใหญ่ จนกระทั่งไฟไหม้โรงงานเก่าจนหมด...

เหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้คุณพ่อของผม กลัวเรื่องไฟมากที่สุด
ท่านจะกำชับเสมอว่าให้ระวังเรื่องน้ำมัน และไฟ รวมถึงไฟฟ้าให้ดี
ซึ่งผมก็จำและนำมาปฏิบัติอยู่เสมอ...

จนในปี 2520 คุณพ่อก็มาได้ที่ดินในซอยศรีบุญเรือง ถนนเทพารักษ์
ซึ่งสมัยก่อนยังมีแต่ทุ่ง และบึงบอน มีควายเดินกันเต็มไปหมด
แม้แต่ที่ดินที่ใช้สร้างโรงงาน ก็เป็นเล้าไก่ที่เขาเลิกทำ

ปี 2521 ทุกอย่างก็เริ่มเข้าที่ เครื่องจักรทั้งหมดจึุงได้พร้อม 100%
และดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยการบริหารในระบบสบายๆ แบบคนจีนของคุณพ่อ...

จนถึงปีนี้ (2549) นับว่าโรงงานของเรา ดำเนินงานมาแล้วกว่า 30 ปี